ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้คนจำนวนมากที่ถูกจับเข้าไปอยู่ในค่ายกักกันของนาซีต่างต้องสู้อย่างหนักเพื่อเอาชีวิตรอด แต่สำหรับ แฮร์รี ฮาฟท์ คำว่า “สู้” ของเขานั้นมีความหมายตรงตามตัวอักษร
เขาถูกจองจำตั้งแต่วัยรุ่น และถูกบังคับให้สู้กับเพื่อนผู้ถูกกักกันเพื่อความบันเทิงของผู้คุม และความพ่ายแพ้ก็อาจจะมีความหมายถึงชีวิต
นี่คือเรื่องราวของนักมวยแห่งเอาชวิทซ์ เจ้าของฉายา ที่ใช้กำปั้นเป็นเครื่องมือในการเอาตัวรอดจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
นักสู้ชาวยิว
ชีวิตของ แฮร์รี หรือ เฮอร์เชล ฮาฟท์ นั้นเรียกได้ว่าต้องดิ้นรนมาตั้งแต่เด็ก เมื่อเขาคือลูกคนสุดท้องจากพี่น้อง 8 คนของครอบครัวชาวยิวในเมืองเบลชาตอฟ ประเทศโปแลนด์ ที่เติบโตขึ้นมาจากแม่เลี้ยงเดี่ยว หลังพ่อของเขาจากโลกไปตั้งแต่แฮร์รี อายุเพียง 3 ขวบ
นอกจากนี้ เขายังเผชิญกับการถูกกลั่นแกล้งและเลือกปฏิบัติ เพราะแม้เมืองเบลชาตอฟที่เขาอาศัยอยู่จะมีประชากรชาวยิวเกือบครึ่ง แต่ในตอนนั้นกระแสต่อต้านยิวก็แพร่กระจายไปทั่วทั้งเมือง
อลัน สกอตต์ ฮาฟท์ ลูกชายของแฮร์รีบอกว่า พ่อของเขาเล่าว่า ครูที่โรงเรียนมักจะเอ่ยปากชมนักเรียนชาวคริสต์อย่างออกหน้าออกตา กลับกันหากเป็นเด็กชาวยิวพวกเขาจะถูกทุบตีหากทำผิดเพียงเล็กน้อย
เช่นเดียวชีวิตนอกรั้วโรงเรียน เมื่อชาวยิวมักจะถูกทำร้ายจากคนที่ไม่ใช่ยิวอยู่เสมอ เนื่องมาจากคำสอนที่บอกให้เกลียดยิวที่ซึมซับมาจากโบสถ์หรือครอบครัว และมันก็ได้หล่อหลอมให้แฮร์รีกลายเป็นนักสู้
“มันมีแก๊งที่คอยทำร้ายเด็กชาวยิว” อลัน บรรยายในหนังสือชื่อซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพ่อของเขา
“แฮร์รีเข้าใจตั้งแต่เด็กว่าเขาจำเป็นต้องสู้และมีชื่อเสียงในฐานะนักสู้ ดังนั้น เขาจึงไม่ได้เป็นเหยื่อของพวกนั้น”
อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นไม่นาน สิ่งที่โหดร้ายกว่านั้นก็ค่อยๆคืบคลานมาหาแฮร์รีและชาวยิวในเมือง เมื่อในวันที่ 5 ตุลาคม 1939 หรือไม่กี่สัปดาห์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เปิดฉากขึ้น เบลชาตอฟก็ถูกยึดครองจากนาซีเยอรมัน
ก่อนที่นั่นจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของฝันร้าย
ถูกจับเพราะไปช่วยพี่ชาย
อันที่จริงก่อนที่นาซีเยอรมันจะเข้ามา เบลชาตอฟก็มีกลุ่มชาติพันธุ์เยอรมันที่พูดภาษาเยอรมันอาศัยอยู่บ้างแล้ว ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็ต่างยินดีกับการมาถึงของเจ้านายคนใหม่
ตรงกันข้ามกับชาวยิวที่ชีวิตของพวกเขาต้องเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะไม่ใช่แค่ถูกจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานเท่านั้น แต่ยังถูกบังคับให้ใช้แรงงานไปจนถึงบังคับให้มาอยู่รวมกันในชุมชนแออัดที่สร้างขึ้นมาใหม่
“ชาวยิวถูกเลือกจากท้องถนนอย่างเป็นระบบเพื่อไปใช้แรงงาน พวกเขาได้รับอนุญาตให้เดินกลางถนนเท่านั้น ขณะที่โบสถ์ของชาวยิวก็ถูกทำลาย” อลัน บรรยายในหนังสือ
“ชาวยิวทุกคนต้องสวมชุดดาวสีเหลืองของดาวิด ธนาคารของชาวยิวก็ถูกระงับ พวกเขายังถูกห้ามเดินทางและจำกัดเวลาออกจากบ้าน”
สำหรับแฮร์รีและครอบครัว ในช่วงแรกพวกเขายังเอาตัวรอดไปได้ หลังดำรงชีวิตด้วยการลักลอบขนของเถื่อนที่ทำให้พวกเขายังพอมีรายได้ และพวกเขาก็ไม่ลืมที่จะเจียดเงินเหล่านั้นมาช่วยเหลือเพื่อนชาวยิวในชุมชนแออัด
ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่นจนกระทั่งปี 1941 ก็มีประกาศจากเมืองให้ชายชาวยิวต้องไปลงทะเบียนกับตำรวจในท้องที่ อาเรีย พี่ชายแฮร์รีคิดว่ามันอาจจะทำให้เขาได้งานที่สุจริตทำจึงตัดสินใจไปลงชื่อกับทางการ
แต่ผ่านไปหลายชั่วโมง อาเรียก็ยังไม่กลับมา แฮร์รีที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ลงทะเบียนจึงอาสาออกไปตามหา และพบว่าพี่ชายของเขารวมถึงชาวยิวคนอื่นถูกขังรวมอยู่ในสถานีดับเพลิง
แฮร์รีตัดสินใจใช้ตัวเองเป็นเหยื่อล่อจากเจ้าหน้าที่เพื่อให้อาเรียพี่ชายแอบหนีออกมา ทว่ามันก็ทำให้เขาถูกจับเข้าไปอยู่ในสถานีดับเพลิงแทน
และมันก็เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตอันโหดร้ายในค่ายกักกันของแฮร์รี เริ่มจากการถูกส่งไปใช้แรงงานที่ค่ายพอซนาน ทางตะวันตกของโปแลนด์ ก่อนจะถูกย้ายไปที่ค่ายกักกันใกล้เมืองลอดซ์ สถานที่ที่ผู้คุมเรียกว่า “สุสาน”
“จากตรงนั้นเราก็ถูกส่งไปยังเอาชวิทซ์” แฮร์รี
และมันก็เป็นสถานที่ที่แฮร์รีต้อง “สู้ ” เพื่อเอาชีวิตรอด
สร้างความบันเทิงให้ผู้คุม
แฮร์รีอยู่ที่ค่ายเอาชวิทซ์ได้ไม่นานก็ถูกส่งไปยังค่ายแรงงานที่เมืองจาวอซซา ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายๆค่ายสาขาของเอาชวิทซ์ ที่นั่นเขาถูกบังคับให้ทำงานหนักในเหมืองถ่านหินด้วยมือเปล่าโดยปราศจากเครื่องป้องกัน
แต่มันก็ทำให้แฮร์รีได้พบกับ เดียตริช ชไนเดอร์ นายทหารระดับสูงจากหน่วย SS หรือ ชุทซ์ชตัฟเฟิล ซึ่งเป็นหน่วยพิฆาตของนาซี ซึ่งเขาดูจะถูกใจแฮร์รีมากจึงให้การช่วยเหลือแฮร์รีอย่างลับๆ โดยมีข้อแลกเปลี่ยนว่า แฮร์รีจะต้องทำงานให้เขา
ในตอนแรก แฮร์รีคิดว่าชไนเดอร์เป็นคนมีน้ำใจ เพราะไม่เพียงแต่จะย้ายเขามาอยู่ในส่วนงานที่ไม่ต้องออกแรงมากนัก ยังเพิ่มปริมาณอาหารในแต่ละวันให้แฮร์รีเป็นพิเศษ
ทว่าสุดท้าย งานที่ชไนเดอร์ให้ทำ ก็ทำให้แฮร์รีรู้ตัวว่า เขาคิดผิดมาตลอด
“ตอนนี้แกตัวโตและเป็นยิวผู้แข็งแกร่งแล้ว เพื่อนเอ๋ย ฉันอยากให้แกเป็นผู้สร้างความบันเทิง” ชไนเดอร์บอกกับแฮร์รี
“แกกำลังจะไปให้ความบันเทิงแก่เพื่อนของฉัน รวมถึงเจ้าหน้าที่และทหารคนอื่น”
งานของแฮร์รีก็คือ ทุกวันอาทิตย์ เขาจะต้องขึ้นสังเวียนชกมวยกับเพื่อนชาวยิวในค่ายกักกันต่อหน้าผู้คุมด้วยหมัดที่มีเพียงถุงมือหนังห่อหุ้ม และการแข่งขันจะจบลงก็ต่อเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมแพ้หรือแข่งต่อไม่ไหว
ชไนเดอร์บอกว่า คนที่จะมาสู้กับแฮร์รีล้วนเป็นอาสาสมัคร แต่ทันทีที่เขาเห็นคู่ต่อสู้คนแรกก็ทำให้รู้สึกเสียดายที่ครั้งหนึ่งเคยคิดว่าชไนเดอร์เป็นคนดี
“คู่ต่อสู้คนแรกเข้ามาในเวที แฮร์รีรู้สึกช็อกกับร่างกายของเขา เขาดูเหมือนคนที่ตายไปแล้วครึ่งหนึ่งที่มีเพียงหนังหุ้มกระดูก มันชัดเจนสำหรับเขาในตอนนั้นว่าไม่มีอะไรยุติธรรมสำหรับไฟต์นี้” อลัน บรรยายในหนังสือ
“ตอนนั้นแฮร์รีอายุ 18 เขาตัวใหญ่และแข็งแกร่ง ชไนเดอร์ให้อาหารเขาอย่างดี เขาไม่ต้องทำงานหนักและถูกทรมาน แฮร์รีมองไปทั่วเวทีและเห็นความกลัวปรากฏอยู่บนใบหน้าของผู้ท้าชิง เขารู้ว่าผู้ชายคนนี้ไม่ได้อาสาขึ้นมา”
“แฮร์รีจำคำพูดของชไนเดอร์ได้ว่าการต่อสู้จะจบลงอย่างไร ซึ่งก็คือ เมื่อคนใดสู้ต่อไม่ไหว และตอนนี้เขาก็เข้าใจความหมายแล้ว”
และมันก็ทำให้แฮร์รีต้องเดินหน้าเท่านั้น
นักสู้ไร้พ่ายแห่งค่ายกักกันนาซี
ในวันแรก แฮร์รีต้องชกกับคู่ต่อสู้ถึง 5 คน และเขาก็เอาชนะไปได้อย่างไม่ยากเย็น ท่ามกลางเสียงหัวเราะและความสะใจของผู้คุม เช่นเดียวกับชไนเดอร์ที่นั่งอยู่บนแท่นขนาดใหญ่ราวกับกำลังชมสวนสัตว์มนุษย์
เขารู้ดีว่าเขาจำเป็นต้องสู้เท่านั้นเพื่อความอยู่รอด และความพ่ายแพ้ก็อาจมีความหมายถึงความตาย เพราะเขาไม่เคยเห็นคู่ต่อสู้ของเขาอีกเป็นครั้งที่ 2 หลังจากสิ้นสุดการชกในแต่ละไฟต์
“สมัยเด็ก ผมเคยฝึกต่อยมวยที่โรงเรียนจึงแข็งแรงมาก แต่ที่จาวอร์ซโน เมื่อการต่อสู้จบลง ผู้แพ้จะถูกพาไปโรงพยาบาล และถ้าเขาไม่ดีขึ้น หลังจากนั้นไม่กี่วันเขาจะถูกส่งไปที่เอาชวิทซ์” แฮร์รี
เขาเดินหน้าไล่ปราบผู้ท้าชิงอย่างไม่หยุดหย่อน เขามีผลงานที่โดดเด่นด้วยสถิติชนะรวดทั้ง 76 ไฟต์ จนทำให้เขาได้รับฉายาจากเหล่าผู้คุมว่า ซึ่งเขาเองก็ไม่เคยรู้สึกภูมิใจกับฉายานี้
“พวกเขาไม่ได้เคารพผมหรอก เราเป็นแค่ผู้รอดชีวิตที่สร้างความบันเทิงให้แก่พวกเขา” แฮร์รี อธิบาย
นอกจากนี้ เขายังรู้สึกเจ็บปวดที่ต้องต่อสู้กับคนรู้จัก เพราะหลายคนคือคนที่อยู่แถวบ้าน และชัยชนะของแฮร์รีก็เหมือนเป็นการส่งพวกเขาไปตาย
“ตลอด 76 ไฟต์ เขาต้องรู้จักพวกนั้นบ้างอยู่แล้ว” อลัน
“เพราะว่าตอนที่พวกเขา (นาซี) รวบรวมคนมา พวกเขาก็เอาคนมาจากบ้านเกิดของเรา”
แฮร์รีเล่าว่า ครั้งหนึ่งเขาเคยเผชิญกับคู่ชกที่สมน้ำสมเนื้อ นั่นก็คืออดีตแชมป์เฮฟวีเวตของฝรั่งเศส ที่ถูกเลี้ยงดูเป็นอย่างดีจากผู้คุมเหมือนกับเขา ซึ่งการชกนั้นเป็นไปอย่างดุเดือด และทำให้แฮร์รีมีแผลแตกเลือดเต็มหน้า แต่เขาก็ยังฮึดสู้ก่อนที่จะน็อกผู้ท้าชิงได้สำเร็จ
และหลังจากที่ผู้คุมพาตัวนักชกชาวฝรั่งเศสคนนั้นออกไป เขาก็ได้ยินเสียงปืน 2 นัด และไม่เคยเห็นคู่ชกคนนี้ของเขาอีกเลย
สู่อิสรภาพ
หลังจากใช้ชีวิตอยู่ราว 5 ปีในค่ายกักกัน ต้นปี 1945 แฮร์รีและเพื่อนๆก็ต้องอพยพอีกครั้ง หลังกองกำลังของโซเวียตเคลื่อนพลมาใกล้ค่ายเอาชวิทซ์ จนทำให้นาซีต้องเร่งอพยพคนออกจากที่นี่ พร้อมกับทำลายสิ่งก่อสร้างเพื่อปกปิดอาชญากรรมและความเลวร้ายที่เกิดขึ้น
มันคือสิ่งที่ภายหลังเรียกกันว่า หรือการให้ผู้คนเดินแถวจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งในระยะทางที่ค่อนข้างไกลโดยไร้อาหาร และแฮร์รีก็คือหนึ่งในนั้น
อย่างไรก็ดี หลังมาถึงค่ายที่ฟรอซเซนเบิร์ก พวกเขาก็พบว่ากองกำลังสหรัฐฯ กำลังบุกเข้ามา ทำให้ต้องมีการอพยพอีกครั้ง และมันก็กลายเป็นโอกาสให้แฮร์รีตัดสินใจหลบหนี
“เราจะเป็นคนที่ตายไปแล้วถ้าเราไม่ออกจากที่นี่” แฮร์รี ย้อนความหลัง
เขาอาศัยช่วงเวลาที่ผู้คุมเผลอ ลอบฆ่าทหารเยอรมันที่กำลังอาบน้ำ แล้วเอาเครื่องแบบมาใส่เพื่อพรางตัว ก่อนจะหนีไปซ่อนตัวในบ้านคนในย่านชนบท และเขาจำเป็นต้องฆ่าชาวบ้านที่เห็นเขาเพื่อเอาตัวรอด
“พ่อฆ่าเจ้าหน้าที่เยอรมันเพื่อเครื่องแบบ และหลังจากนั้นเขาก็ฆ่าผู้คนอีกหลายคนที่ฟาร์มระหว่างทางหลบหนี พ่ออธิบายเรื่องนี้ทั้งหมดแบบคร่าวๆ” อลัน ลูกชายของ แฮร์รี
เขาย้ายจากหมู่บ้านหนึ่งไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่งเพื่อหลบหนีการจับกุม จนกระทั่งสงครามจบลงในช่วงกลางปี 1945 แฮร์รีก็ได้ย้ายมาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย และได้ต่อยมวยอีกครั้งที่นั่น
เนื่องจากในปี 1947 ทหารอเมริกันได้จัดการแข่งขันขึ้นที่มิวนิค และแฮร์รีก็ได้ลงชิงชัย ก่อนที่เขาจะปราบคู่ต่อสู้จนหมดและคว้าแชมป์รายการนี้ จนกลายเป็นคนดังของที่นั่น
แฮร์รีได้ใช้โอกาสนี้ยื่นคำร้องต่อ นายพลลูเซียส เคลย์ ผู้จัดการแข่งขัน ให้ช่วยพาเขาไปที่สหรัฐอเมริกา ก่อนที่ในปี 1948 เขาจะได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ในดินแดนแห่งเสรีภาพ พร้อมกับแต่งงานกับ มิเรียม หญิงชาวอเมริกัน
แต่ดูเหมือนว่าเขาจะยังหนีจากฝันร้ายในอดีตไม่พ้น ..
ความทรงจำที่หลอกหลอน
ชีวิตที่อเมริกาของแฮร์รีดูเหมือนจะไปได้สวย เมื่อเขายังคงใช้การต่อสู้เอาตัวรอดด้วยการเทิร์นโปรเป็นนักมวยอาชีพ และมีสถิติที่ไม่เลว ชนะ 14 จาก 22 ไฟต์ ตลอด 2 ปีบนเส้นทางสายนี้
เขายังมีโอกาสได้ชกกับ ร็อคกี้ มาร์เซียโน ที่ต่อมากลายเป็นแชมป์โลกรุ่นเฮฟวีเวต โดยแฮร์รีเป็นฝ่ายพ่ายน็อกในการชกที่โรดไอแลนด์ ในปี 1949 และกลายเป็นไฟต์สุดท้ายในชีวิตของเขา
อย่างไรก็ดี เขาอ้างว่าไฟต์ดังกล่าวเขาจำเป็นต้องยอมแพ้ เนื่องจากก่อนขึ้นชกมีอันธพาลหลายคนมาขู่เอาชีวิตเขาถึงห้องแต่งตัว หากเขายังดึงดันจะเอาชนะในไฟต์นี้
“ในยุคของผม มาเฟียคอยควบคุมการแข่งขันชกมวย และคุณต้องทำตามที่เขาบอก” แฮร์รี กล่าว
หลังจากเลิกต่อยมวย เขาก็ทำงานหลายอย่าง ทั้งเปิดร้ายขายผักและผลไม้ที่บรูคลิน นิวยอร์ก ไปจนถึงขับแท็กซี่เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว เขาบอกว่า “ภรรยาและลูก” คือความภาคภูมิใจในชีวิตของเขา
แต่ถึงอย่างนั้น ความโหดร้ายจากสงครามก็ยังตามหลอกหลอนแฮร์รีตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ เขามักจะตื่นเพราะฝันร้าย และเป็นคนที่มีอารมณ์รุนแรง ไปจนถึงควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ซึ่งลูกและภรรยาของเขาเป็นคนที่ต้องรับเคราะห์
“ผมโตที่อเมริกาในช่วงทศวรรษ 1950s กับพ่อที่พูดภาษาอังกฤษได้ไม่มากนัก เขาไม่สามารถอ่านหรือเขียนได้เลย และเขายังเป็นคนที่ไม่น่าคุยด้วย เพราะเขาอาจจะระเบิดอารมณ์ได้ทุกเวลา” อลัน กล่าวถึงพ่อของเขา
“เขามีอาการทางจิตที่ลงเอยด้วยความรุนแรง ครั้งหนึ่งเขาพังหน้าต่างในบ้าน และผมก็ไม่สามารถขัดขวางอะไรได้เลย ไม่อย่างนั้นผมจะถูกทุบตี มันบ้ามากๆ”
ในตอนนั้น แฮร์รีไม่ได้บอกครอบครัวว่าเป็นเพราะอะไร และตัวเขาเองก็รู้สึกผิดที่ทำแบบนั้นไป แต่แล้ววันหนึ่งเขาก็เริ่มปริปาก ค่อยๆเล่าเรื่องราวความโหดร้ายที่เขาประสบพบเจอในช่วงสงครามให้ลูกชายฟัง
ที่นำแสดงโดย เบน ฟอสเตอร์
สำหรับแฮร์รี เขาต้องการเพียงอย่างเดียวคือให้ลูกและครอบครัวเข้าใจว่าเพราะอะไรเขาจึงเป็นแบบนี้ มันไม่ได้เป็นสิ่งที่เขาเลือกและอยากเป็น มันเกิดจากฝันร้ายที่เขาอยากลืมแต่ลืมไม่ลง และแน่นอนว่า แฮร์รีไม่ใช่คนเดียวที่เป็นเช่นนี้ และมันคือภาพสะท้อนที่ชัดเจนว่า สงครามไม่เคยให้คุณแก่ใคร เพราะไม่ว่าจะเป็นผู้แพ้หรือผู้ชนะต่างก็ชอกช้ำอยู่ดี
“ตอนที่เขา (แฮร์รี) ได้รับเลือกให้เข้าไปอยู่ในหอเกียรติยศที่พิพิธภัณฑ์กีฬาของชนชาติยิว เขาถูกถามว่า มีอะไรที่เขาเสียใจบ้างไหม?”
“เขามองไปที่หมัดของเขา หมัดยักษ์เหล่านี้มีข้อนิ้วที่หักอยู่ เขาบอกว่า ความเสียใจของเขาคือ ชีวิตของผู้คนที่ผ่านมือคู่นี้มา” อลัน ทิ้งท้าย